โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลำปาง จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง STEM Education บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์ร่วมกับสถานศึกษาเครือข่ายในจังหวัดลำปาง | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา ลำปาง จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง STEM Education บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์ร่วมกับสถานศึกษาเครือข่ายในจังหวัดลำปาง

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 5 เมษายน 2560 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 1288 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง STEM Education บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์ แก่คณะครูสถานศึกษาเครือข่ายจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2560 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์มนูญ เมฆอรุณกมล รองอธิการบดีฯ เป็นประธานใพิธีเปิด
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนูญ เมฆอรุณกมล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยงเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา เสริมสร้างกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ครู อาจารย์สังกัดสถาบันการศึกษาในจังหวัดลำปาง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษามีทักษะวิชาชีพก่อนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี  พัฒนาครูพี่เลี้ยงในสถานศึกษาให้มีความรู้ สามารถประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งเพื่อพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยงให้ตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนของประเทศ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการถึงเดือนกันยายน 2560 ในเฟสแรกที่มหาวิทยาลัยฯดำเนินการคือการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ STEM เทคนิคการจัดการเรียนรู้ การผลิตสื่อและกิจกรรม STEM Education และกิจกรรมการพัฒนาสื่อร่วมกันระหว่างครูพี่เลี้ยงและครูสถานศึกษาเครือข่าย ซึ่งสื่อการสอน STEM มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ทำหน้าที่ในการฝึกอบรม ถ่ายทอดวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการติดตามการนำสื่อการสอนในรูปแบบ STEM ไปใช้กับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะเป็นการร่วมกันพัฒนาบุคลากรของประเทศชาติให้มีความรู้ความสามารถ พร้อมรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนาที่ดีขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลกต่อไป
          ด้านนายฐิติกร  หล้าวงศ์ษา ครูโรงเรียนลำปางกัลยาณี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมากที่ให้โอกาสครูได้มาเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนแบบ STEM ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกรายวิชทั้งวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาหรือแม้กระทั่งภาษาต่างๆ ทั้งสายวิทย์สายศิลป์ก็สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนการสอนได้ทั้งหมด ซึ่งทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์อย่างมากจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้  ขณะที่นายวีระ ทองทาบวงศ์ อาจารย์วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมอบรมตนมีความคิดว่า STEM เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและหนักไปทางวิทยาศาสตร์  แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการทำให้ทราบว่าไม่ใช่เฉพาะวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ STEM เป็นวิธีการคิดการแก้ปัญหา สามารถจะบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆได้ เพียงใช้วิทยาศาสตร์เป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ในส่วนตัวสอนวิชาภาษาไทยรู้สึกว่า STEM เป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากมีองค์ประกอบของการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกันและการคิดอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเด็กไทยมี 3 องค์ประกอบนี้ และครูผู้สอนนำ STEM เข้าไปใช้ในการเรียนการสอนอาจจะไม่ทั้งหมด เพียงนำหลักการไปใช้ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนนักศึกษารู้จัการทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เหล่านี้จะทำให้การศึกษาเราพัฒนามากขึ้น  ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ที่จัดโครงการนี้ขึ้น  โดยเป็นโครงการที่ดีมาก มีการติดตามต่อยอดในลักษณะของพี่เลี้ยงและเครือข่าย ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน และเมื่อโครงการนี้บรรลุผลสถานศึกษาเครือข่ายจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ และทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรของประเทศชาติร่วมกันได้ในอนาคต
          การจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จัตตุฤทธิ์  ทองปรอน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉัตรชัย เลาวกุล และ ดร.สุวิชช์  ธนะศานวรคุณ ทีมวิทยากรด้าน STEM Education มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นวิทยากรในการอบรม โดยมี 8 สถานศึกษาในจังหวัดลำปางเข้าร่วม ประกอบด้วย โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูลวิทยา โรงเรียนสบปราบพิทยาคม โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม โรงเรียนเมืองมายวิทยา โรงเรียนลำปางกัลยาณี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง และวิทยายาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ
          ข่าว/ภาพ : จารุวรรณ  สุยะ








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา